ชื่อ: หมอนปล่อง
21 มิ.ย. 2566
รายละเอียด:
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม : หมอนปล่อง
ประวัติความเป็นมา "หมอนปล่อง (ออกเสียง "ป่อง") เป็นหมอนหนุนนอนแบบล้านนา มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ด้านในของหมอนใช้งิ้ว (สำลีที่อยู่ด้านในฝักของต้นงิ้ว) เป็นหมอนที่หาได้ยากในปัจจุบันและเสี่ยงต่อการสูญหายไป มีรูปแบบหลากหลายเช่น "หมอนสี่" มีช่องสำหรับยัด (ใส่) งิ้วสี่ช่อง ส่วน"หมอนหก" คือหมอนที่มีช่องสำหรับยัด (ใส่) งิ้วหกช่อง ส่วน "หมอนแปด" มีที่ยัดงิ้ว ๘ ช่อง เว้นช่องกลางเป็นรู
วัสดุอุปกรณ์ในการผลิตผลงาน
๑. ผ้าฝ้ายพื้นเมืองสีขาว,สีแดง,สีดำ และสีเหลือง
๒. งิ้ว (นุ่น)
๓. เข็ม
๔. ด้ายสำหรับเย็บหมอน
ขั้นตอนในการผลิตผลงาน
1. นำผ้าฝ้ายดิบที่เตรียมไว้ จับผ้าวัดขนาดตามหน้าหมอนที่ต้องการทำตามขนาดความกว้าง และความยาวของหน้าหมอน (หมอน ๘ มีขนาด ๑๓.๒x๙ นิ้ว) แต่ละช่องมีขนาด ๓x๓ นิ้ว
2. จับผ้าฝ้ายดิบวัดตามความกว้างของหน้าหมอนจนสุด หรือให้เลยขอบหน้าหมอนออกไปอีกเล็กน้อยเพื่อเอาไว้เก็บมุมจะได้ผ้าตามกว้าง ตัดด้วยกรรไกรให้ขนาดยาวตามความพอใจ เพื่อเป็นตัวไส้หมอน
3. ได้ผ้าตามหน้ากว้างแล้วขนาดความยาวตามความพอใจ พับครึ่งแบ่งความกว้าง ตัดด้วยกรรไกรจะได้ชิ้น ๒ ชิ้น เล็ก ๆ ทำสองครั้ง จะได้ผ้าทั้งหมด ๔ ชิ้น เก็บไว้ก่อน
4. นำผ้าฝ้ายดิบที่เหลือ วัดขนาดตามความยาวของหน้าหมอนให้เลยขอบหน้าหมอนเล็กน้อยทั้ง ๒ ด้าน จะได้ผ้าที่มีความกว้างเท่ากับความยาวของหน้าหมอน ตัดออกให้มีขนาดยาวเท่ากับผ้า ๔ ชิ้น ชิ้นเล็ก ที่ตัดไว้ก่อนแล้ว
5. นำผ้าชิ้นใหญ่ที่สุดเป็นฐานเอาผ้าชิ้นเล็กๆ ทั้ง ๔ นำมาวางตามผ้าชิ้นใหญ่ทั้ง ๒ ด้าน ด้านละ ๒ ชิ้น โดยที่ผ้าชิ้นใหญ่แบ่งออกหรือกะขนาดให้เท่าๆ กัน เป็น ๓ ส่วน
6. ผ้าชิ้นเล็กที่จะวาง ให้วางขอบแรกให้ชิดกับผ้าชิ้นใหญ่ ทำเหมือนกันทั้ง ๒ ชิ้น ๒ ด้าน
7. เริ่มเย็บเหมือนเย็บผ้าธรรมดา ตรงขอบในทั้ง ๒ ด้าน จะต้องเย็บให้ติดกันทั้ง ๒ ชิ้น หน้าหลัง
8. เสร็จแล้วคลี่ออกดู จะได้ตัวไส้หมอนที่มีลักษณะเหมือนรังแตนที่เป็นช่อง ๆ มีอยู่ ๙ ช่อง หน้าเก้าช่องหลังเก้าช่อง เพื่อเอาไว้ยัดนุ่น
9. นำผ้าฝ้ายดิบผืนใหม่มาวัดขนาดให้รอบหน้าหมอนที่ทำเสร็จแล้ว จะได้ความกว้างออกมา ส่วนความยาวให้วัดเท่ากับตัวหมอนที่เย็บเรียบร้อยแล้ว ตัดด้วยกรรไกรให้ใหญ่กว่าขนาดที่วัดไว้เล็กน้อย
10. จะได้ผ้าที่ใช้สำหรับกลิ้งตัวหมอนให้ปิดทุกด้าน จะได้ออกมาเป็นห้องๆ อยู่ ๙ ห้อง
11. นำด้านกว้างของผ้ามาทาบด้านยาวของตัวหมอน เย็บแบบเย็บผ้าตลอดความยาวของตัวหมอน ซึ่งด้านหนึ่งจะมีส่วนที่ยื่นออกมาเพื่อกั้นเป็นห้องอยู่ ๒ ชิ้น ให้เย็บติดกับชิ้นแรกก่อน
12. เสร็จแล้วกะระยะพอสมควรให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม ปลิ้นผ้าเหมือนกับการเย็บผ้าผิดด้าน ด้านหนึ่งจะเย็บ ๒ ส่วน พอถึงส่วนมุมให้กะระยะที่จะแบ่งห้อง ส่วนมุมไว้อย่าเพิ่งเย็บฝากไว้ก่อน เริ่มเย็บด้านอีกด้านหนึ่งเหมือนกับ ด้านแรกพอถึงมุมที่จะมาบรรจบกับผ้าที่เก็บไว้มุมแรก ให้นำมาประกอบกันแล้วเย็บทีเดียวจะได้ลักษณะหมอนเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่มีห้องๆ ๙ ห้อง
13. นำผ้าฝ้ายดิบ ตัดขนาดให้ขนาดกว้างยาวเท่ากับหน้าหมอนที่ทำเสร็จแล้ว นำไปติดปิดตามที่เป็นช่อง โดยพับครึ่งผ้าตามยาว เย็บติดส่วนกลางของตารางหน้าหมอน เย็บส่วนกั้นห้องให้ติดผ้าทั้งหมด เอาไว้ติดหน้าหมอนทั้ง ๒ ด้าน
14. เย็บส่วนหน้าหมอนให้ติดกับส่วนที่กลิ้งแล้ว เป็นก้นหมอน เย็บธรรมดา
15. เริ่มยัดนุ่นในแต่ละห้องให้เต็ม โดยใช้ไม้ยัดให้แน่น ทั้ง ๘ ห้อง เหลือช่องตรงกลางไว้ เสร็จแล้วจะได้ลักษณะรูปร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยม เย็บปิดปากหมอน ทำให้หมอนเข้ารูปโดยตบให้นุ่นเสมอกัน
16. นำหน้าหมอนที่เย็บเสร็จหมดแล้วมาปิดหน้าของไส้หมอน เย็บโดยรอบโดยใช้ด้ายสีดำเย็บแบบซ่อนด้าย รอบหมอน
17. ดึงให้ตึง เก็บชายผ้าด้วย ทำเหมือนกันทั้ง ๒ ด้าน
18. จะได้หมอนที่เสร็จสมบูรณ์
ที่มา : รายงานผลการคัดสรรสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมตามโครงการผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาวัฒนธรรม (otopวัฒนธรรม) อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ปี ๒๕๕๗
ภาพที่ 1 ผ้าฝ้ายพื้นเมืองที่ใช้ทำใส้หมอน หรือปลอกหมอน
ภาพที่ 2 ใส้หมอนหรือปลอกหมอนที่ทำการเย็บแล้ว ลักษณะคล้ายรังแตน
ภาพที่ 3 ผ้าที่ใช้ทำหน้าหมอน
ภาพที่ 4 การเย็บหน้าหมอน